ผู้สมัครงาน
ถ้าเราได้รับการยอมรับและไว้ใจจากคนที่ทำงานด้วยแล้วนั้น การทำงานต่างๆ ก็คงจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าเดิมอยู่พอสมควร ยิ่งถ้าคนที่ทำงานร่วมกับเชื่อใจหรือไว้ใจเรามากเท่าไร การประสานงาน เจรจา ตัดสินใจ ก็ดูจะมีปัญหาน้อยกว่าการทำงานกับคนที่ไม่เชื่อใจกันเป็นแน่ ลองนึกถึงสถานการณ์ในการทำงานจริงก็ได้ครับ เราจะเจอคนบางคนที่เรารู้สึกเชื่อถือการตัดสินใจหรือความเห็นของเขา ในขณะที่บางคนเราอาจจะชั่งใจ บ้างก็ตั้งคำถามมากเป็นพิเศษ ทั้งที่จริงๆ ความเห็นดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีอะไรที่ผิดเลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้การสร้างความเชื่อใจการทำให้เราดูมีความเป็นมืออาชีพจึงเป็นสิ่งที่เราควรทำอยู่สม่ำเสมอ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งหรือประสบการณ์ แม้ว่าเราอาจจะยังไม่ได้มีตำแหน่งสูงก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเราเองได้ บล็อกนี้ผมเลยลองหยิบนิสัยหรือพฤติกรรมง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ ถ้าอยากจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองนะครับ
หนึ่งในเรื่องที่ผมเชื่อว่าทุกคนให้ความสำคัญแต่ก็มักเป็นสิ่งที่มักจะเจอคนไม่ทำกันบ่อยมากๆ คือเรื่องของเวลา การเข้าประชุมสาย การไม่ไปตามนัด การส่งงานช้า ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนทำให้ตัวเรากลายเป็นเป้าสายตาของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าเราไปทำงานช้ากว่าคนอื่นที่ได้นัดหมายกันแล้วนั้น (ไม่ว่าด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่) นั่นหมายถึงการที่เราทำให้อีกฝั่งต้องรอ และก็ประหนึ่งกับการทำให้อีกฝั่งรู้สึกว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขานั่นแหละ แต่ในทางกลับกัน การที่เราไปตรงต่อเวลา หรือรักษาเวลาได้ดีก็จะทำให้ใครๆ อยากทำงานร่วมกับเรา เพราะอย่างน้อยในเรื่องพื้นฐานสำคัญนั้น พวกเขาก็สามารถเชื่อใจเราได้นั่นแหละฮะ
อีกสิ่งที่ทำลายความน่าเชื่อถือได้อย่างรวดเร็วคือการไม่รักษาคำพูด พูดอย่างทำอย่าง เพราะมันก็เหมือนกับการหักหลัง แทงข้างหลัง และทำลายความคาดหวังของอีกฝ่ายนั่นแหละครับ มันเลยเป็นเรื่องที่เราต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะสัญญาอะไรออกไป ถ้าทำได้ก็บอกว่าทำได้ และถ้าอะไรทำไม่ได้ก็บอกว่าทำไม่ได้ อย่าเพียงแต่ทำให้อีกฝั่งพอใจชั่วคราวก่อนที่เขาจะผิดหวังในภายหลัง แม้ว่าในบางสถานการณ์มันอาจจะทำให้คุณอยู่ในภาวะลำบากเพราะงานที่ทำนั้นยากหรือไม่เป็นไปไม่ได้ แต่คุณก็ควรจะชี้แจงและอธิบายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าถึงสถานการณ์ ไม่ใช่ให้เขาอยู่กับความจำที่ว่าคุณได้ “สัญญา” กับเขาไปแล้ว
สิ่งที่หลายๆ คนเบื่อคือคนประเภทที่ตัวเองถูกเสมอและมองว่าความผิดพลาดไม่ใช่สาเหตุมาจากตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้หลายๆ คนไม่อยากทำงานด้วยเพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะโดนปัดความรับผิดชอบใส่เมื่อไร แต่ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาแล้วเราไม่ได้เอาแต่หาข้ออ้างหรือข้อแก้ตัว แต่ยืดอกรับผิดชอบและรับฟังคำวิจารณ์ต่างๆ อย่างน้อยมันก็ทำให้คนที่ทำงานร่วมกันมองเห็นว่าคุณไม่ได้หนีปัญหาแต่อย่างใด ลองคิดกันดูง่ายๆ ก็ได้ครับว่าเวลาเราเห็นคนประเภทปัดความผิดของตัวเองให้คนอื่นนั้น เราจะมองเขาอย่างไรต่อไปในภายหลัง เราจะอยากทำงานกับเขาอีกไหม?
เราจะรู้สึกดีมากถ้าเราเห็นคนทำงานเต็มที่กับมัน ยิ่งถ้าเห็นใครที่เรารู้สึกว่าเขา “สนุก” หรือ “หลงรัก” งานที่ทำนั้น เราจะรู้สึกว่าเขาจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด และนั่นทำให้หลายๆ คนหยุดสงสัยว่าเราทำงานดีแล้วหรือยัง หรือเราพยายามอย่างที่สุดแล้วหรือยัง จากประสบการณ์ของผมนั้น มีหลายๆ คนที่ผมจะไม่เคยตั้งคำถามว่าทำอะไรอีกได้ไหมหรือเขาเต็มที่กับมันแล้วหรือยัง เพราะตลอดเวลาที่เขาทำงานนั้นผมเห็นว่าเขาทุ่มเทแบบ “สุดขั้ว” เลยทีเดียว ที่พูดเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องการทำงานหนักเสมอไป แต่มันคือการทำให้คนรอบๆข้างสัมผัสได้ว่าเราใช้ความสามารถเราอย่างเต็มที่ ไม่ได้หย่อนยาน หรือทำงานแบบไปๆ ทีนั่นเอง
ผมเชื่อว่าสิ่งที่หลายๆ คนเบื่อมากในหลายๆ องค์กรคือเรื่องการเมือง บ้างก็เป็นเรื่องอคติระหว่างกันจนทำให้หลายๆ คนไม่เป็นอันทำงาน ประเภทคนนี้ไม่ถูกกับคนนั้นก็เลยพยายามทำให้เรื่องยากเข้าไว้กว่าจำเป็น บ้างก็พยายามจี้จุดปัญหาเกินจำเป็น ซึ่งนั่นทำให้คนอื่นๆ มองว่าคนๆ นั้นใช้อคติในการทำงาน ใช้หน้าที่ตัวเองในการกลั่นแกล้งหรือกดดันคนอื่น ซึ่งนั่นจะทำให้ถูกมองว่าไม่ได้ทำงานจริงๆ แต่อย่างใด การพยายามทำร้ายคนอื่นในที่ทำงานผ่านการทำงานจึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่าเอามากๆ แม้ว่าคนทำอาจจะสะใจ แต่คนอื่นๆ จะไม่ได้มองแบบนั้นหรอกครับ
นอกเหนือจากการทำงานตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้วนั้น การช่วยเหลือคนอื่นในที่ทำงานก็ล้วนเป็นส่วนผสมอันดีที่จะทำให้ใครๆ ก็รู้สึกดีกับคน เพราะมันทำให้พวกเขามองว่าคุณไม่ได้ทำงานอยู่คนเดียวหรือสนแต่ตัวเอง การช่วยเหลือคนอื่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณมองเห็นคนรอบข้าง ใส่ใจคนอื่นๆ และนั่นทำให้พวกเขาเห็นคุณมากกว่าคนทำงานทั่วๆ ไปนั่นเอง
ในทางตรงกันข้ามกับข้อที่แล้ว เราคงไม่อยากทำงานกับคนประเภทที่เอะอะก็ขอให้คนอื่นทำโน่นทำนี่ให้ประเภทที่มีคำถามว่า “นั่นมันงานของคุณไม่ใช่เหรอ” หรือ “เรื่องแบบนี้ ทำไมคุณไม่ทำเอง” ฉะนั้นก่อนที่จะไปขอให้คนอื่นทำอะไรก็ต้องคิดเรื่องนี้ให้ดีๆ เพราะการขอความช่วยเหลือบางครั้ง (หรือหลายๆ ครั้ง) คือการเพิ่มงานให้กับอีกฝ่าย ซึ่งถ้าเขาไม่อยู่ในภาวะที่พร้อมแล้วล่ะก็ เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่าการขอร้องนั้นคือการเอาเปรียบพวกเขาได้ง่ายๆ
นี่เป็นหนึ่งในปรัชญาชีวิตที่ผมยึดถือและเชื่อมากๆ แม้ว่าเราจะได้รับตำแหน่งหรือฐานะที่สูงแล้ว ก็ใช่ว่าเราจะต้องทำตัวให้สูงประเภทที่คนอื่นเข้าไม่ถึงเสียเมื่อไร ในทางกลับกันจากประสบการณ์ของผมนั้น ผู้นำเก่งๆคือคนที่เข้าถึงคนอื่นๆ และทำให้คนที่ทำงานด้วยไม่รู้สึก “กลัว” ในขณะเดียวกัน ยิ่งเราทำตัวเรียบง่าย ไม่ถือตัว แต่กลับทำงานที่ยิ่งใหญ่ ทำงานที่มีความสำคัญได้อย่างดี นั่นจะยิ่งทำให้ตัวเราถูกมองอย่างมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราเอาแต่ทำตัวให้สูง ยกยอตัวเอง หรือเอาฐานะเข้าข่มคน ต่อให้ทำงานได้ดี มันก็แค่เสมอตัว แถมเผลอๆ คุณอื่นๆอาจจะไม่รู้สึกดีไปกับมันด้วย
จริงๆเรื่องนิสัยหรือพฤติกรรมที่ทำให้คนเชื่อใจคุณนั้นยังมีอีกมาก ท้ายที่สุดมันก็กลับมาที่พื้นฐานว่าคุณจะพอใจการทำงานร่วมกับคนแบบไหน และไม่พอใจกับคนแบบไหน ก็เอาสิ่งที่นึกออกมาทำตามหรือหลีกเลี่ยงนั่นแหละฮะ
Credit : http://www.nuttaputch.com/8-working-behavior-to-make-people-trust-you/
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด